กลอย
ชื่อวิทยาศาสตร์ Dioscorea hispida Dennst. ชื่อพ้อง D. hirsuta Blume วงศ์ Dioscoreaceae ชื่อท้องถิ่น กลอยข้าวเหนียว กลอยนก กลอยหัวเหนียว กอย คลี้ มันกลอย Intoxicating yam, Nami, Wild yam ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้เถา ลำต้นกลม มีหนาม หัวใต้ดิน ส่วนมากกลม เปลือกสีเทาหรือสีฟาง เนื้อขาว หรือเหลืองอ่อน อมเขียว เป็นพิษ ปริมาณสารพิษจะแตกต่างกันไป ในช่วงฤดูฝน (เดือนสิงหาคม) จะมีพิษมากที่สุด และในฤดูร้อน (เดือนเมษายน) จะมีพิษน้อยที่สุด (1, 2) กลอยทอดเหลืองกรอบ ส่งกลิ่นหอม น่าอร่อย นับว่าเป็นอาหารชนิดหนึ่งที่ผู้เขียนชอบ รับประทาน และคิดว่าหลายๆท่านก็ชอบรับประทานเช่นเดียวกัน แต่ในความกรอบอร่อยนี้ น้อยคนนักที่จะรู้ว่ากลอยนั้นถ้าผ่านกระบวนการทำไม่ถูกวิธี จะทำให้เกิดพิษต่อผู้ที่รับประทาน ตัวอย่างผู้ป่วย ผู้เขียนมีตัวอย่างผู้ที่ได้รับพิษจากการรับประทานกลอย 2 เรื่อง เรื่องแรกเป็นรุ่นพี่ของผู้เขียน 2 ท่าน รับประทานกลอยทอดที่ซื้อมาจากตลาดตอนพักกลางวัน ประมาณ 1-2 แผ่น พอตกบ่ายแก่ๆ ก็มีอาการอาเจียน วิงเวียน คลื่นไส้ พออาเจียนจนหมดท้อง อาการจึงเริ่มดีขึ้น เรื่องที่ 2 เป็นเรื่องที่เกิดที่ รพ.วาริชภูมิ มีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล จำนวน 6 คน รับประทานกลอยนึ่งสุกหลังอาหารกลางวัน ประมาณบ่าย 3 โมงของวันเดียวกัน 1 ใน 6 คนนั้นก็มีอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ อาเจียน หลังจากนั้นคนอื่นๆก็มีอาการตามมาแบบเดียวกัน นอกจากนี้ ในปี 1974 มีรายงานการตายของคนที่เข้าไปในป่าแล้วไม่ระมัดระวังในการรับ-ประทานกลอย ในประเทศมาเลเซีย 3 ราย (3) สารพิษ พืชในสกุล Dioscorea จะมีสารพิษ คือ dioscorine ในปริมาณที่แตกต่างกันแล้วแต่ species ในหัวกลอยจะมี dioscorine ในปริมาณมาก หัวกลอยแห้งและลอกเปลือกออก แล้ว จะมีแอลคาลอยด์ที่เป็นพิษ 0.19 % (3, 4) อาการพิษ หากรับประทานหัวกลอยมาก จะกดระบบทางเดินหายใจ และทำให้ตายได้ (4) จากรายงานการวิจัยของ วรา จันทร์ศิริศรี และคณะ ฉีดน้ำสกัดกลอยเข้าทางเส้นเลือดดำของหนูถีบจักร พบว่ากลอยจะไปกระตุ้นในระยะแรก ตามมาด้วยการกดระบบประสาทส่วนกลาง การเคลื่อนไหว (motor activity) ลดลงภายหลังฉีดน้ำสกัดกลอยในขนาดที่เริ่มทำให้เกิดพิษ (กดระบบประสาทส่วนกลางเพียงอย่างเดียว) แต่ถ้าฉีดในขนาดสูงมากจนสัตว์ทดลองตาย หนูถีบจักรจะชักในระยะแรก แล้วในที่สุดจะตายเนื่องจากระบบการหายใจถูกกด (2) ขวัญฤดี เดชาติวงศ์ และคณะ ฉีดน้ำยากลอย (น้ำละลายสารสกัดกลอยด้วย 95 % เอทานอล จนได้สารแอลคาลอย์บริสุทธิ์)เข้าช่องท้องหนูถีบจักรและหนูขาว ขนาดน้อยกว่า 1 มก./นน.หนู 10 กรัม มีฤทธิ์กดสมอง หนูถีบจักรมีอาการซึมลงทุกตัว และบางตัวหลับ นานประมาณ 1 ชม. จึงกลับเป็นปกติ เพิ่มขนาดยาเป็น 1-1.2 มก./ นน.หนู 10 กรัม หนูถีบจักรจะแสดงอาการสมองถูกกดและถูกกระตุ้น หนูเริ่มซึมก่อน หูซีด ต่อมากระวนกระวาย หอบ และชัก หนู 2 ตัวใน 6 ตัว ชักรุนแรง และตาย เนื่องจากการหายใจถูกกด ถ้าใช้ขนาด 1.8-2 มก./ นน.หนู 10 กรัม ทำให้หนูชักรุนแรงมากและตายหมดทั้ง 3 ตัว ในหนูขาวเมื่อฉีดเข้ากล้ามและเข้าหลอดเลือดให้ผลเช่นเดียวกัน ผลต่อการหายใจของแมว พบว่ากลอยทำให้การหายใจเพิ่ม แต่ขนาดมากกลับทำให้การหายใจลดลง กลอยกระตุ้นปมประสาทเสรีของสุนัข ทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น มีการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ทั้งกล้ามเนื้อทางเดินอาหารและกล้ามเนื้อหลอดเลือดในหนูตะเภา (5) บุญยงค์ ตันติสิระ และคณะ พบว่าสาร dioscorine มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางหนูถีบจักรอย่างรุนแรง จนทำให้ชักและตาย (ก่อนเกิดอาการชักจะทำให้สัตว์ทดลองเคลื่อนไหวน้อยลง) (6) พงษ์ศักดิ์ กรรณล้วน และคณะ ให้สาร dioscorine ขนาด 0.002-1.024 มก./ กก. เข้าทางหลอดเลือดดำของหนูขาวที่สลบด้วย urethane จะทำให้ค่าความดันโลหิตเฉลี่ยของสัตว์ทดลองเพิ่มขึ้น 15-36 % โดยจะเพิ่มสูงสุดเมื่อให้ในขนาด 0.008 มก./ กก. หลังจากนั้นอัตราการเพิ่มของความดันโลหิตจะคงที่ อัตราการเต้นของหัวใจไม่เปลี่ยนแปลง อัตราเร็วของการหายใจจะสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่การเปลี่ยนแปลงนี้มีนัยสำคัญทางสถิติ สัตว์ทดลองบางตัวจะแสดงอาการหอบและหยุดหายใจ (apnea) ในบางครั้ง ซึ่งมักเกิดในขณะหายใจเข้า ช่วงเวลาที่การหายใจเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิต นอกจากนี้ dioscorine ไม่มีผลต่อการหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจของหนูขาว และกล้ามเนื้อผนังหลอดเลือดแดงของกระต่าย (7) ดอกทำให้เกิดอาการระคายเคือง (8) การรักษาอาการพิษ (9) ให้การรักษาตามอาการ ได้แก่ 1. ให้ phenobarbital หรือ diazepam เพื่อป้องกันอาการชัก แต่ต้องระวังไม่ให้ในรายที่ขนาดของกลอยที่ได้รับนั้นทำให้เกิดอาการพิษที่ไปลดการเคลื่อนไหว (motor activity) หรือกดระบบประสาทส่วนกลางแล้ว ยาเหล่านี้อาจไปเสริมฤทธิ์แทนที่จะต้านฤทธิ์ของกลอย 2. หยุดหายใจ อาจแก้โดยใช้ neostigmine ดังนั้น การนำหัวกลอยมาใช้ประโยชน์เป็นอาหาร ต้องใช้ความชำนาญและเวลามาก โดยมีการหั่นเป็นชิ้นบางๆ นำไปล้างในน้ำไหล หรือต้มในน้ำเกลือโดยเปลี่ยนน้ำล้างหลายหน รวมทั้งการทดสอบในขั้นตอนสุดท้ายก่อนนำไปใช้ประโยชน์ให้แน่ใจว่าไม่มีสารพิษเหลืออยู่ (10) |
ดองดึงหัวขวาน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gloriosa superba L. วงศ์ : Liliaceae ชื่อท้องถิ่น : ก้ามปู คมขวาน ดองดึง ดาวดึงส์ บ้องขวาน ฟันมหา มะขาโก้ง Climbing lily, Super lily ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้เถา มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ทวีปอาฟริกา แต่ได้ นำมาปลูกในเอเชียเขตร้อนทั่วๆ ไป มีใบเป็นใบเดี่ยวเรียงยาว สีเขียวมัน ปลายใบม้วนเข้าและม้วนลง เพื่อช่วยในการเกี่ยว พันกับหลักหรือต้นไม้ ดอกเดี่ยวใหญ่ กลีบดอกบิดเป็นคลื่น เมื่อเริ่มออกดอกจะมีสีเหลืองอ่อน ปลายกลีบสีแดง สีจะเข้มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อดอกแก่ มีกลีบดอก 6 กลีบ ผลมี ลักษณะเป็นฝัก เมื่อฝักแก่จะแตก เห็นเมล็ดสีส้ม ภายในมีหัวเป็นเหง้าอยู่ใต้ดิน ดอกสีเหลืองออกส้มแดงสวยงาม หัวมีลักษณะเหมือนหัวขวาน แต่ในความสวยงามนั้นแฝงไว้ด้วยพิษมากมาย ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้น คือต้นดองดึงหัวขวาน ดองดึงเป็นพืชที่ออกดอกในฤดูฝน ดอกสวยงามมาก เมื่อออก ดอกผลแล้วต้นจะตาย ส่วนหัวใต้ดินก็จะแตกเป็นต้นใหม่ต่อไปในปีถัดไป บางคนนิยมปลูกดองดึง เนื่องจากสวยงาม แต่ว่าต้องระมัดระวังเพราะในส่วนของเหง้าและเมล็ดจะมีสาร alkaloid ที่เรียกว่า colchicine สูง ซึ่ง colchicine ทำให้เกิดพิษและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ (1)ตัวอย่างผู้ป่วย หญิงอายุ 28 ปี รับประทานหัวดองดึงเป็นอาหารเพราะเข้าใจว่าเป็นกลอย มีอาการอาเจียน ท้องเสีย หลังจากรับประทานไปได้ 2-3 ชั่วโมง เข้าโรงพยาบาลในวันต่อมา มีอาการขาดน้ำและความดันต่ำวัดไม่ได้ มีไข้ อาเจียนและท้องเสีย หัวใจเต้นเร็ว วันที่ 4 หายใจไม่ได้ หัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตในที่สุด (2) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2529 ได้มีข่างลงในหนังสือพิมพ์ว่ามีผู้เสียชีวิต เนื่องจากรับประทานหัวดองดึงเข้าไปถึง 3 ราย เพราะเข้าใจผิดคิดว่าหัวดองดึงเป็นสมุนไพรที่สามารถใช้รักษาอาการท้องอืดเฟ้อและปวดเมื่อยตามร่างกายได้ จึงนำไปต้มและนำมารับประทานคนละ 1 แก้ว เกิดอาการอาเจียนอย่างรุนแรงและเสียชีวิตในวัน รุ่งขึ้น (3) คนไข้ เพศหญิง อายุ 21 ปี รับประทานหัวดองดึงต้มขนาด 125 มิลลิกรัม ซึ่งมี colchicine 350 มิลลิกรัม หลังจากรับประทานไปได้ 2 ชั่วโมง ก็เริ่มอาเจียน จากนั้น 8 ชั่วโมงต่อมาก็ถ่ายท้องอย่างแรงเป็นน้ำและท้องเสียตลอดทั้งคืน โดยอาเจียน 25 ครั้ง และถ่ายท้อง 20 ครั้งในคืนนั้นไปโรงพยาบาล เนื่องจากคนไข้มีอาการหมดสติ ขาดน้ำ อัตราการเต้นของหัวใจ 122 ครั้งต่อนาที และความดันโลหิต 95/70 ม.ม. ปรอท อัตราการหายใจ 18 ครั้งต่อนาที แพทย์จึงให้น้ำเกลือ หลังให้น้ำเกลือแล้วผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ความดันโลหิตเพิ่มเป็น 100/70 ม.ม. ปรอท และอัตราการเต้นของหัวใจลดลงเหลือ 110 ครั้ง/นาที แต่เช้าวันต่อมาคนไข้หมดสติ อีกครั้งหนึ่ง วัดความดันโลหิตไม่ได้จึงให้ hydrocortisone hemisuccinate, methoxamine และ noradrenaline 2 วัน หลังจากเข้าโรงพยาบาล คนไข้มีอาการเลือดออกในตาซ้าย และประจำเดือนซึ่งหมดไปในวันที่รับประทานหัวดองดึง กลับมีใหม่อีก 20 วัน ปริมาณเม็ดเลือดขาว 5,000/c.m.m 12 วันหลังจากเข้าโรงพยาบาลก็มีอาการผมร่วง ในวันที่ 23 ผมร่วงหมด 2 เดือนต่อมา จึงเริ่มมีผมงอกใหม่ แต่ยาวอย่างช้าๆ ซึ่งภายในเวลา 5 เดือนยาวได้เพียง 2-3 นิ้ว เท่านั้น (4) มีรายงานผู้ที่รับประทานหัวดองดึงและเสียชีวิต 8 ราย ในประเทศศรีลังกา (5) มีรายงานอาการพิษของผู้ที่ได้รับสาร colchicine จากหัวดองดึง ว่าผู้ป่วยจะมีอาการไตวายเฉียบพลัน ลำไส้อักเสบ ระบบไหลเวียนโลหิตผิดปกติ คลื่นหัวใจผิดปกติจนวัดไม่ได้ (6-8) ชาวเผ่า EWE รับประทานใบดองดึง 1.613 กิโลกรัม ทำให้เสียชีวิต (9) เมื่อให้หนูกินสารสัดด้วยน้ำในขนาด 10 กรัมต่อกิโลกรัม พบว่าเป็นพิษ (10) มีรายงานพบการเสียชีวิตในเด็กที่ได้รับ colchicine ในขนาด 7-11 มิลลิกรัม (11) สารที่ทำให้เกิดพิษ สารที่ทำให้เกิดพิษของต้นดองดึงนั้น คือสารในกลุ่ม alkaloid ซึ่งประกอบด้วย colchicine และอนุพันธ์ เช่น N-formyl-N-deacetylcochicine, 3-desmethyl colchicine เป็นต้น ซึ่งพบได้ในทุกส่วนของต้นดองดึง แต่จะพบมากในเหง้าและเมล็ด (12-13) สูตรโครงสร้าง Colchicine ปรกติ colchicine ใช้เป็นยาแผนปัจจุบันในการรักษาโรคไขข้ออักเสบเฉียบพลัน (acute gouty arthritis) แต่ไม่ใช่ยาแก้ปวด และไม่สามารถใช้รักษาอาการปวดอื่น colchicine ไปขัดขวางการเคลื่อนที่ ของเม็ดเลือดขาวชนิด granulocyte ไม่ให้ไปที่บริเวณอักเสบ ทำให้เอนไซม์ที่ทำให้อักเสบและ lactic acid ลดลง ซึ่งเป็นผลให้ลดการอักเสบ และ colchicine ไประงับการหลั่ง glycoprotein ซึ่งทำให้ไขข้ออักเสบ ขนาดที่ใช้ในการรักษามีขนาดน้อยมาก คือ 1 มิลลิกรัม ในครั้งแรก แล้วตามด้วย 0.5-1.2 มิลลิกรัม ทุก 1-2 ชั่วโมง ควรหยุดยาทันทีเมื่ออาการปวดหายไป ขนาดที่ใช้ทั้งหมดไม่ควรเกิน 4-10 มิลลิกรัม เนื่องจาก colchicine มีพิษสูงไม่ควรให้ซ้ำภายใน 3 วัน อาจให้โดยวิธีฉีดก็ได้ โดยฉีดให้ในขนาด 2 มิลลิกรัม ถ้าใช้ในการป้องกันการเกิดอาการปวดหรืออักเสบ อย่างเฉียบพลัน ให้ใช้ในขนาด 0.5 มิลลิกรัม 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ อย่างสูงไม่เกิน 1.8 มิลลิกรัมต่อวัน นอกจาก มีประโยชน์ทางยาแล้วได้มีผู้รายงาน ฤทธิ์ข้างเคียงของ colchicine คือ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และปวดท้อง เมื่อมีอาการดังที่กล่าวมาน ี้ต้องหยุดให้ยา เพราะอาจเกิดพิษเพิ่มขึ้นเนื่องจากระยะเวลา ในการออกฤทธิ์และ พิษแตกต่างกันมาก ในแต่ละคน (3) อาการเมื่อได้รับพิษ เมื่อรับประทานหัวดองดึง หรือสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของต้นดองดึง ภายใน 2-6 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะเริ่ม มีอาการร้อนในปาก คอ หลอดลมตีบ อาการกลืนไม่ลง กระหายน้ำ ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน ชีพจรเต้นเร็ว (90-100 ครั้งต่อนาที) ความดันโลหิตลดลง (70-50 ม.ม. ปรอท หรือ 60-40 ม.ม. ปรอท) เมื่อตรวจคลื่นหัวใจด้วย Electrocardiogram (ECG) จะพบว่าหัวใจเต้นช้าผิดปกติ และอาจมีอาการชักเกร็ง เหงื่อออก เกร็ดเลือดต่ำ มีเลือดออกในระบบทางเดินอาหารส่วนต้น ถ้าการรักษาและช่วยชีวิตไว้ได้ทัน อาการจะกลับสู่ปกติภายใน 5-10 วัน แต่มีบางรายเสียชีวิตเนื่องจากการหายใจและหัวใจล้มเหลว ขนาดที่ทำให้เสียชีวิตคือ 7 มิลลิกรัม บางครั้งมีอาการดีขึ้นแล้วแต่อาจมีอาการกลับ เป็นมากขึ้นอีกและ เสียชีวิตได้ เนื่องจากการขับถ่าย colchicine ช้า เมื่อรับประทาน colchicine เข้าไปจะถูกดูดซึมเข้าสู่ กระแสเลือด อย่างรวดเร็ว และจะมีปริมาณ colchicine สูงสุดเมื่อได้รับไปประมาณ 0.5-2 ชั่วโมง ซึ่ง colchicine จะเข้าไปอยู่ที่ลำไส้เป็นปริมาณสูงโดยผ่านทางน้ำดีและน้ำย่อย ดังนั้นจะเห็นได้ว่า อาการพิษจะทำลายลำไส้มาก (12-13) การรักษา ต้องรีบพยายามล้างท้อง และรักษาปริมาณ electrolyte ให้สมดุลย์ เพื่อป้องกันการช๊อค อาจจำเป็น ต้องให้ meperidine (50-100 มิลลิกรัม) ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (IM) หรือให้ meperidine ร่วมกับ atropine เพื่อลดอาการปวดท้องอย่างรุนแรง และควรมีเครื่องช่วยหายใจในกรณีที่เกิดการอัมพาตของกล้ามเนื้อ ภาวะการหายใจล้มเหลวหรือช็อค (12-13) |
เทียนหยด
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Duranta repens L. วงศ์ : Verbenaceae ชื่ออื่น : เครือออน (แพร่) พวงม่วง ฟองสมุทร สาวบ่อลด (เชียงใหม่) golden dewdrop, pigeon berry, skyflower ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ใบรูปไข่ ดอกออกทั้งปีออกเป็นช่อ ดอกมีสีม่วงอมฟ้า หรือขาว ผลกลมสีส้มเหลือง (1,2) เทียนหยด มีชื่อวิทยาศาสตร์ Duranta repens L. แม้ว่าจะนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ แต่ก็อาจจะเกิดเป็นพิษได้ มีสมาชิกท่านหนึ่งได้โทรศัพท์เข้ามาถามเกี่ยวกับเรื่องเทียนหยด เนื่องจากมีเด็กอายุ 10 เดือน ระหว่างที่คุณปู่ คุณย่าพาไปเดินเล่นในสวน ได้เด็ดเอาใบเทียนหยด 2-3 ใบ มาเคี้ยวรับประทาน ประกอบกับเด็กมีอาการหวัดอยู่ เด็กมีอาการง่วงซึมทำให้ไม่แน่ใจว่าเป็นผลเนื่องจากเทียนหยดหรือไม่ จึงได้สอบถามมา แต่ภายหลังได้รับแจ้งว่าเด็กไม่เป็นอะไร เด็กได้รับเพียงเล็กน้อยมากจึงไม่มีอาการ อาการซึมคงเนื่องจากหวัดและยาที่ใช้รักษา (3)ตัวอย่างผู้ป่วย พบเด็กที่ออสเตรเลีย ได้รับพิษจากเมล็ดเทียนหยดเสียชีวิต อาการพิษที่พบ คือ นอนไม่หลับ มีไข้ และชัก และมีรายงานอีกฉบับว่ามีเด็กหญิงในฟลอลิด้ารับประทานผลเทียนหยดเข้าไป มีอาการมึนงง สับสน แต่ในวันต่อมาก็มีอาการเป็นปกติ (5) สารที่ทำให้เกิดพิษ สาร duacosterol (6), duratoside IV, duratoside V (6) และมีรายงานพบว่ามีผู้พบ กรดไฮโดรไซยานิค (Hydrocyanic acid, HCN) หรือไซยาไนด์ในใบ (6) จากการศึกษาทางเคมีจะเห็นว่ามีสารซึ่งอาจเป็นพิษได้ คือ ถ้ารับประทานใบในปริมาณมาก HCN จะทำให้เกิดอาการขาดออกซิเจนได้ ทำให้มีอาการตัวเขียว และอาจถึงกับเสียชีวิตได้ ถ้าได้รับใน ปริมาณน้อย ก็อาจมีอาการอาเจียน และท้องเสีย (3,4) ส่วนในเมล็ด พบสารจำพวก saponin ได้แก่ duratoside ?V, duratoside V เอกสารหลายเล่มระบุว่าเป็นพิษที่เกิดจาก saponin แต่ saponin ทุกตัวไม่ใช่ตัวทำให้เกิดพิษอย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีรายงานความเป็นพิษ ของเมล็ด เทียนหยด จึงควรที่จะระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ อาการพิษ ผู้ป่วยจะแสดงอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ลำไส้อักเสบ ในรายที่เกิดอาการพิษรุนแรง เนื้อเยื่อที่อยู่ลึกๆ อาจถูกทำลาย กรณีที่มีการดูดซึมสารพิษ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง กระหายน้ำ จิตใจมีความกังวล ม่านตาขยาย และหน้าแดง พิษที่รุนแรงแสดงออกที่กล้ามเนื้อไม่มีแรง การประสานงานของกล้ามเนื้อไม่ดี สุดท้ายการไหลเวียนของเลือดไม่สม่ำเสมอและอาจถึงขั้นชัก (7) การรักษา ต้องทำให้พิษลดลงหรือได้รับการดูดซึมน้อยที่สุด ได้แก่ การทำให้อาเจียน และให้สารหล่อลื่น เช่น นม หรือไข่ขาว ขณะพักฟื้นให้ทานอาหารอ่อนๆ ให้น้ำเกลือ กรณีมีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่มาก (7) |
ปรง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cycas circinalis L. วงศ์ Cycadaceae ชื่ออื่นๆ กา กาเดาะ กูดหลวา แข่ดู่ ทอคลิ บอกะ มะพร้าวเต่าดอย มะพร้าวเต่าหลวง มุ่งมาง ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้ต้น เปลือกสีน้ำตาล มีรอยแผลใบที่ลำต้น มีเหง้ากึ่งใต้ดิน ใบเป็นใบประกอบ รูปยาว แคบ ปลายใบแหลม ดอกเพศผู้และเพศเมียแยกต้นกันอยู่ ดอกตัวผู้ออก เป็น ช่อที่ปลายยอด มีสปอร์จำนวนมากเรียงรอบแกนกลาง ดอกเพศเมียอกเป็นกาบระหว่างใบ มีไข่อ่อนติดทั้ง 2 ข้าง ข้างละ 2-4 หน่วย เมล็ดกลมเมื่อแก่จัดสีแดงอมส้ม (1,2 ) ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คนรับประทานพืชที่ไม่นิยมนำมารับประทานก็คือการขาดแคลนพืชอาหาร ซึ่งเสียงต่อพิษที่จะเกิดขึ้น โชคดีอาจมีแค่อาการระคายเคียง แต่ถ้าโชคร้ายอาจเสียชีวิต ในกรณีของปรงมีรายงานว่าผู้อพยพชาวเขมรที่หนีสงครามข้ามมาฝั่งไทยในช่วงปี 2516 ในระหว่างการ เดินทางมายังประเทศไทย เนื่องจากขาดแคลนอาหาร จึงเก็บยอดปรงรับประทาน หลังจากมาถึงค่ายผู้ อพยพแล้วก็ยังรับประทานกันต่อ เมื่อรับประทานเข้าไปมากๆ ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และ ท้องเสียอย่างรุนแรง (1 ) สำหรับประเทศไทยพบพืชในวงศ์ Cycadaceae ทั้งหมด 5 ชนิดได้แก่ Cycas circinalis L ปรง C. micholitzii Dyer var. simplicipinna Smitin มะพร้าวเต่า C. pectinnata Thunb ปรงเขา C. rumphii Miq ปรงญี่ปุ่น C. siamensis Miq ปรงเหลี่ยม ปรงป่า ผักกูดบก ความเป็นพิษ ส่วนที่เป็นพิษของปรงได้แก่ ยอดและเมล็ด มีรายงานความเป็นพิษหลายรายได้แก่ ชาวเขมรอพยพที่รับประทานยอดปรง มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสียอย่างรุนแรง (1) ชาวญี่ปุ่นที่ซ่อนตัวอยู่ในเกาะกวม กินผลซึ่งยังทำไม่สุก ทำให้อาเจียนและมีอาการท้องเสียอย่างรุนแรง จนมีเลือดปนออกมากับอุจจาระ (1) นอกเหนือจากนี้ยังพบรายงานว่าคนของกัปต้นคุกกินผลของปรงทำให้เกิดอาการอาเจียนอย่างรุนแรง (1) จากการศึกษาเมล็ดของปรงพบว่ามีสารพิษที่สำคัญคือ Cycasin ซึ่งเป็นสารกลุ่ม Pseudocyanotic glycosside ซึ่งสารพวกนี้เมื่ออยู่ในสภาวะกรดจะสลายตัวให้ เมทานอล ( methanol ) แต่ในสภาวะ ที่เป็นด่างจะสลายตัวให้กรดไฮโดรเจนไซยานิค (HCN) ซึ่งสารทั้ง 2 ที่ได้เป็นสารพิษ ปฎิกิริยาทั้ง 2 นี้จะเกิดในร่างกาย โดยที่สภาวะในกระเพาะจะเป็นกรดและในลำไส้จะมีสภาวะเป็นด่าง เมทานอล ( methanol ) ทำให้เกิดอาการปวดหัว หมุน อาเจียน ปวดท้อง ปวดหลัง หายใจขัด สั่น ตามัว ท้องเสีย ถ้ารับมากๆ อาจทำให้ตาบอด เกิดอาการ acidosis เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง อาจทำให้เสียชีวิตได้ ส่วนกรดไฮโดรเจนไซยานิค ( HCN ) จะไปทำปฎิกริยากับ Fe+ ใน cytochrome oxidase ทำให้ขัดขวางระบบหายใจ โดยร่างกายไม่สามารถใช้ออกซิเจนได้ ทำให้หายใจถี่ มีอาการชัก และตายโดยที่หยุดหายใจ นอกจากนี้การศึกษา cycasin ในสัตว์ทดลองยังพบว่า cycasin มีพิษต่อตับ (3,4,5) และระบบประสาท (6) การรักษา น่าจะรักษาอาการเช่นเดียวกับอาการพิษจาก เมทานอล คือรักษาอาการ acidosis โดยใช้alkali พยายามรักษาระดับ electrolyte และอาหาร และควรกำจัดเมทานอลโดยใช้วิธี hemodialysis หรือ peritoneal dialysis พยายามให้ความอบอุ่นแก่คนไข้ ป้องกันตาไม่ให้ถูกแสง อาจให้ ethanal ซึ่งการรักษาเหล่านี้ต้องทำโดยแพทย์ในโรงพยาบาลเท่านั้น สรุป เห็นได้ว่าการเกิดพิษ เริ่มจากอาการตั้งแต่เล็กน้อยเช่น ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน จนถึงมาก เช่น อาเจียนอย่างรุนแรง อาการบวมของกระเพาะและอาการสลดหดหู่ มึนงง ประสาทหลอน ท้องร่วง ปวดท้อง ชาตามกล้ามเนื้อ ซึ่งอาการเหล่านี้บางอาการจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว บางอาการจะเกิดขึ้นช้า นอกจากส่งผลต่อคนแล้วยังมีรายงานว่าแกะที่กินใบของปรงก็เกิดอาการเกิดอาการเซลล์ประสาท และ เซลล์ตับถูกทำลาย และตายในที่สุด ( 7 ) ปรงสามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้เฉพาะแป้งจากราก ต้นและเมล็ด แต่ในประเทศฟิลิปปินส์ยังรับประทานยอดอ่อนด้วยแต่ต้อง กำจัดสารพิษออกก่อนโดย การแช่น้ำนานหลายๆ วัน เพื่อให้สารพิษละลายออกไป หรือต้มทำลายสารพิษเสียก่อน (1) |